NER ลุยเพิ่มฐานลูกค้าอินเดีย ตั้งเป้าปี66 ยอดขาย 7 หมื่นตัน

Thai news

“เอ็นอีอาร์” รุกตลาดอินเดีย คาดคำสั่งซื้อลูกค้าใหม่ 5 ราย ยอดขายแตะ 5 หมื่นตัน ส่วนปีหน้าตั้งเป้า 7 หมื่นตัน เผยครึ่งหลังรายได้โตต่อ ขานรับเศรษฐกิจฟื้น หมดปัญหาตู้ขาดแคลน-ขนส่งแพง

การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า หลังจากสถานการณ์ “ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์” และ “ค่าขนส่งทางเรือ” ที่อยู่ในระดับสูง ! และ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติรายใหญ่ ทั้งในประเทศและส่งออก โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ “กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์” ไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามแผน !

“ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ปัจจุบันสารพัดปัจจัยนอกกระทบธุรกิจ “ถูกกำจัด” แล้ว ทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และ ค่าขนส่งทางเรือที่อยู่ในระดับ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย สะท้อนผ่านความต้องการ (ดีมานด์) ทั่วโลก และเศรษฐกิจเริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะใน “อุตสาหกรรมยานยนต์”

ดังนั้น ตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทปี 2565 และ ปี 2566 บริษัทจะโฟกัสขยายตลาดในกลุ่มลูกค้า “ประเทศอินเดีย” มากขึ้น สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทมีการเซ็นสัญญาเพิ่ม “กลุ่มลูกค้าใหม่” ในอินเดียเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ราย คิดเป็นคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ปีนี้กว่า 50,000 ตัน ประมาณ 8% ของยอดขายรวม โดยตั้งเป้าปี 2566 มียอดขายจากอินเดีย 70,000 ตัน คิดเป็น 15% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ 500,000 ตันต่อปี

“เราเน้นเจาะลูกค้าใหม่ในอินเดียมากขึ้น หลังความต้องการสูง ส่วนหนึ่งมาจากซัพพลายยางพาราในอินโดนีเซียหายออกไปจากตลาดกว่า 10% เนื่องจากอินโดนีเซียเจอปัญหายางพารายืนต้นตายจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกลยุทธ์ “การกระจายรายได้” ของกลุ่มลูกค้าให้หลากหลาย รวมทั้งหลากหลายประเทศ โดยจะไม่พึ่งพิงกลุ่มลูกค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป เพื่อเป็นการ “ลดความเสี่ยง” หากประเทศใดเกิดปัญหาหรือมีสถานการณ์ไม่ปกติ

โดยปัจจุบันบริษัทได้กระจายการจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าไปประกอบด้วย ประเทศไทย ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศจีน ซึ่งกระจายอยู่ในกลุ่มลูกค้ามากกว่า 50 ราย โดยเป็นลูกค้ารายใหญ่ ประมาณ 15 ราย ขณะที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าใหม่จากประเทศอินเดีย และ ญี่ปุ่น อีก 2 ราย รวมทั้งบริษัทอยู่ระหว่างดูตลาด “ลูกค้ายุโรป” แต่ยังไม่เร่งรีบ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจยุโรปกำลังมีปัญหา ซึ่งบริษัทอาจจต้องรอให้เศรษฐกิจยุโรปกลับมาฟื้นตัวก่อน แล้วค่อยกลับไปเจรจากับลูกค้าใหม่อีกครั้ง

NER ลุยเพิ่มฐานลูกค้าอินเดีย ตั้งเป้าปี66 ยอดขาย 7 หมื่นตัน“การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่าบริษัทจะพึ่งพากลุ่มลูกค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งในจำนวนมากๆ ไม่ได้ ดังเราจึงหันมาให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ในหลากหลายกลุ่มลูกค้า และหลายกลุ่มประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ”

สำหรับ แนวโน้มราคายางยังคงได้รับปัจจัยการสนับสนุนจากราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยบริษัทคาดว่ารายได้จากยางพาราจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มกำลังผลิตของ “รถยนต์ยนต์ไฟฟ้า” (EV) ในประเทศจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามากที่สุดประมาณ 50% ของปริมาณยางจะมีการขยายตัวอย่าง “ก้าวกระโดด” รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานใหม่ในรถบรรทุกจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“ชูวิทย์” เล่าต่อว่า สำหรับ “ธุรกิจแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์” (ธุรกิจปลายน้ำ) ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการติดตั้งเครื่องจักรคาดว่าจะเสร็จและเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 4 ปี 2565 โดยบริษัทวางเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศเป็น 10 : 90 ซึ่งในสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศ แบ่งเป็น อินโดนีเชีย , ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น

โดยมองว่าความต้องการแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์ในอุตสาหกรรมยังดีต่อเนื่อง ที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มทยอยขายแผ่นปูรองนอนวัวตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 แล้ว โดยเป็นการจ้างบริษัทภายนอก (OEM) ผลิตไปก่อน เพื่อทดลองตลาดในประเทศ โดยขายในปริมาณไม่มาก และจะเริ่มผลิตสินค้าสำหรับส่งต่างประเทศในไตรมาส 4 ปี 65 หลังโรงงานใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งตั้งเป้ารายได้ปีนี้อยู่ที่ 106 ล้านบาท และในปี 2566 รายได้เพิ่มเป็น 700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นปูรองนอนชนิดใหม่เพิ่มเติมอีกประมาณ 5 ชนิด โดยจะเป็นแผ่นปูรองนอนในกลุ่มที่ใช้กับคน หรือ สัตว์ประเภทอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาและทดลอง ซึ่งมีเป้าหมายอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจแผ่นปูรองนอนยางพาราที่ใช้งานได้จริง

โดยตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้า หรือ ในปี 2567 บริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจปลายน้ำแตะ 20% ของยอดขายรวม

สำหรับ ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้มากกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งมอบยางพาราให้กับลูกค้ามากขึ้น และ มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจนเต็มกำลังการผลิต จากช่วงครึ่งปีแรกมีการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 85% ขณะที่ราคาขายยางพาราล่วงหน้าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ภาพรวมผลดำเนินงานทั้งปีนี้ บริษัทยังคงมั่นใจรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อยู่ที่ 28,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีที่ 95%

ด้านผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 65 บริษัทมีกำไรสุทธิ 851.09 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนของปี 64 เพิ่มขึ้น 45.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.68% เนื่องจากสถานการณ์ราคายางมีทิศทางที่ดี บริษัทสามารถจัดการต้นทุนขายได้ดี รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนจัดจำหน่ายและมีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนรายได้จากการขายรวมสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 65 อยู่ที่ 10,864.82 ล้านบาท ลดลง 387.82 ล้านบาท คิดเป็น 3.45% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และค่าใช้จ่ายค่าระวางเรือสูงขึ้น บริษัทจึงปรับสัดส่วนยอดขายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศมากขึ้นเพื่อรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร

ท้ายสุด “ชูวิทย์” บอกไว้ว่า ในไตรมาส 4 ปี 65 เราจะเพิ่มกำลังผลิตอีก 5 หมื่นตัน เป็น 5.1 แสนตันต่อปี จากเดิมที่ 4.6 แสนตัน และคาดจะเริ่มรับรู้รายได้ทันที และปีหน้าบริษัทก็มั่นใจผลดำเนินงานจะเติบโตต่อเนื่องอีกด้วย